09 พฤศจิกายน 2565

APEC 2022 คืออะไร มีสมาชิกกี่ประเทศ สำคัญอย่างไรกับประเทศไทย


         การประชุม APEC 2022 คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศไทย มีสมาชิกจำนวนกี่ประเทศอะไรบ้าง และไทยได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม


เอเปค (APEC) คืออะไร?

เอเปค (APEC) หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๒ โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค


เอเปคมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่

- ออสเตรเลีย

- แคนาดา

- ญี่ปุ่น

- เกาหลีใต้

- จีน

- ฮ่องกง

- นิวซีแลนด์

- สหรัฐอเมริกา

- บรูไน

- อินโดนีเซีย

- มาเลเซีย

- สิงคโปร์

- ฟิลิปปินส์

- ไทย

- จีนไทเป

- ชิลี

- เม็กซิโก

- ปาปัวนิวกินี

- เปรู

- รัสเซีย

- เวียดนาม


ทั้งนี้ เอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก


เอเปคและไทย ประโยชน์ของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปค

การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน


ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ได้แก่

1.การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-๑๙ ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน


2.ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางกว้างขึ้น


3.การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำเพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลัง โควิด-19 ตามแนวคิด BCG Economy


สาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี 2565 ประกอบด้วย

ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน

 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting) ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565


ความร่วมมือด้านการคลัง

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: APEC FCBDM) ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting: APEC SFOM) ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 และการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565


ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค (APEC Tourism Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 14-20 สิงหาคม 2565


ความร่วมมือด้านการเกษตร

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค (APEC Ministerial Meeting on Food Security) ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส เอเปค ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 7-21 สิงหาคม 2565 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการพบกันของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการเกษตรและอาหารของเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อหารือประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน


ความร่วมมือด้านป่าไม้

ไทยจะผลักดันการใช้นวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และเปลี่ยนข้อได้เปรียบให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน กระจายรายได้สู่ชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรป่าไม้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจ BCG พร้อมกับผลักดันการจัดทำเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย และต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง


ความร่วมมือด้านกิจการสตรี

ไทยจะจัดประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (APEC Women and the Economy Forum: WEF) และ (High-Level Policy Dialogue on Women and the Economy: HLPDWE) ในช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นกลไกในการเสริมพลังสตรีและเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเปค ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมการลงทุนด้านโภชนาการ สุขภาพ และการศึกษาของเด็กมากยิ่งขึ้น


ความร่วมมือด้านการส่งเสริม MSMEs

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (APEC SME Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2565


ความร่วมมือด้านสาธารณสุข

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 12th High-Level Meeting on Health and the Economy ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการพบปะระหว่างเขตเศรษฐกิจ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือประเด็นสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุข


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก :   sanook.news

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สถานะยืนยันตัวตน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขึ้นข้อความแบบไหน ได้สิทธิชัวร์

      ตรวจสอบสถานะ ยืนยันตัวตนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านเว็บไซต์ด้วยตนเอง หากได้รับข้อความแบบไหนถึงจะรูผลว่าผ่านและรอรับเงินเข้าบัตรประจำตัวป...