02 เมษายน 2564

โคราชอ่วม พายุฤดูร้อนถล่มหนัก อุตุฯ เตือนคนไทย ระวังรอบนี้แรงกว่าเดิม !!

     พายุฤดูร้อนถล่มหนัก พื้นที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา บ้านเรือนประชาชนพังเสียหาย ขณะกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนระวัง รอบวันที่ 3 เม.ย. จะรุนแรงกว่าเดิม


วันที่ 1 เมษายน 2564 มีรายงานว่า เกิดเหตุพายุฤดูร้อนถล่ม ในพื้นที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา บ้านเรือนประชาชนพังเสียหาย ต้นไม้ใหญ่หักโค่นกีดขวางถนน ทับบ้านเรือนและรถของชาวบ้านล้มระเนระนาด


โดยหน่วยกู้ภัยฮุก 31 โคราช จุดปักธงชัย ได้รับแจ้งเหตุพายุฤดูร้อน พัดถล่มอย่างรุนแรง ที่บ้านสวนหอม หมู่ที่ 4 ต.ตูม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎรพังเสียหายจำนวน 23 หลัง ต้นไม้ใหญ่หักโค่นกีดขวางถนน และทับบ้านเรือนและกับรถจักรยานยนต์ของชาวบ้านล้มระเนระนาด จึงรีบไปช่วยเหลือ โดยระหว่างเส้นทางยังมีฝนตกหนัก และมีร่องรอยความเสียหาย กิ่งไม้หักโค่นทับสายไฟฟ้าและกีดขวางตามเส้นทางจราจรและสิ่งปลูกสร้าง อาทิ เพิงขายพืชผลทางการเกษตร และหลังคาบ้านเรือน ถูกแรงลมพายุพัดหอบปลิวเสียหายจำนวนมาก


ทั้งนี้ ที่บ้านสวนหอม หมู่ที่ 4 ต.ตูม อ.ปักธงชัย ซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านแจ้งเหตุ พบว่ากิ่งก้านขนาดใหญ่ของต้นโพธิ์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ บริเวณข้างศาลาที่พักสายตรวจตำบลตูม สภ.ปักธงชัย  ได้หักโค่นลงมาใส่รถจักรยานยนต์ของชาวบ้านนับสิบคัน ขณะเดียวกันก็มีต้นไม้ใหญ่หักโค่นขวางทางเข้าประตูวัดด้วย


ทางฝ่ายปกครองอำเภอปักธงชัยและผู้นำท้องถิ่น ต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่และชาวบ้านออกมาช่วยเหลือตัดต้นไม้ที่กีดขวางถนนและล้มทับรถกับบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ได้ทำการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น เพื่อจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวให้ในกรณีที่พายุถล่ม จนที่พักพังเสียหายทั้งหมดหรือเสียหายบางส่วนแต่ไม่สามารถพักอาศัยต่อได้


ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับพายุฤดูร้อน ระบุว่า วันที่ 3-6 เมษายน 2564 ต้องติดตามและเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน คราวนี้น่าจะมามาก (รุนแรงกว่ารอบวันที่ 21 มีนาคม 2564) เนื่องจากมี 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ มวลอากาศเย็นที่จะแผ่ลงมาปกคลุมทางภาคอีสาน และทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดเป็นลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามา ปัจจัยที่ 2. ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมทางตอนบน บางพื้นที่อุณหภูมิร้อนจัด (ตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียส) และปัจจัยที่ 3 คือคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตก จะพัดเข้ามาปกคลุมทางภาคเหนือ อีสานตอนบน จึงเป็นผลทำให้เกิดฝน/ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และบางพื้นที่มีลูกเห็บตกด้วย


นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังแนะนำว่า ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ เร่งเสริมสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ป้ายโฆษณาที่ใกล้ชุมชน และในขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง ต้องงดอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใกล้ต้นไม้ใหญ่ หรืองดใช้สื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด ต้องเฝ้าติดตามและสังเกต หากมีความแปรปรวนของอากาศ หรือมีเมฆที่ก่อตัวในทางตั้ง หรือเมฆฝนฟ้าคะนอง พี่น้องเกษตรกร ต้องเตรียมค้ำยันกิ่งผลไม้ต่าง ๆ ให้แข็งแรง โดยคาดว่าพายุฤดูร้อนนี้จะเริ่มทางภาคอีสานก่อน ในวันที่ 3 เมษายน 64 จากนั้นภาคอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบในลำดับถัดไป






 ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก :hilight.kapook,สำนักข่าว INN,เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สถานะยืนยันตัวตน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขึ้นข้อความแบบไหน ได้สิทธิชัวร์

      ตรวจสอบสถานะ ยืนยันตัวตนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านเว็บไซต์ด้วยตนเอง หากได้รับข้อความแบบไหนถึงจะรูผลว่าผ่านและรอรับเงินเข้าบัตรประจำตัวป...