11 มิถุนายน 2563

ทรมานคนเป็นแม่ ลาคลอด 2 อาทิตย์ บริษัทโทร. ตามให้ออกทันที ทนายชี้ฟ้องกลับได้



      เปิดใจแม่ลูกอ่อนวัย 27 เพิ่งคลอดลูกได้ 1 วัน บริษัทแจ้งให้ออก ทั้งที่อยู่ในช่วงลาคลอด อ้างเพราะสถานการณ์โควิด 19 สั่งปลดคนทีเดียว 200 ชีวิต ด้านทนายชี้ ไล่ออกตอนลาคลอด สามารถฟ้องกลับได้


จากกรณีหนุ่มรายหนึ่ง เปิดเผยเรื่องราวของภรรยาที่ถูกบริษัทให้ออกจากงาน ขณะที่ลาคลอด และเพิ่งคลอดลูกได้เพียง 1 วัน ซึ่งทางบริษัทให้เงินชดเชยแค่ 12,000 บาท ทั้งที่ทำงานมานานถึง 8 ปี ตามที่มีรายงานไปแล้วนั้น

กี่ยวกับเรื่องนี้ (9 มิถุนายน 2563) รายการทุบโต๊ะข่าว รายงานบทสัมภาษณ์ นางสาววิลัยลักษณ์ มิลาวรรณ อายุ 27 ปี เปิดเผยว่า ตนเป็นพนักงาน QC ของโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ ทำงานมา 8 ปี ได้ค่าแรงวันละ 349 บาท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ตนลาคลอด และเพิ่งคลอดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน แต่วันที่ 2 มิถุนายน ทางบริษัทโทร. มาตามให้ไปเซ็นลาออก ซึ่งจนขณะนี้ตนยังไม่ได้ไป เพราะเพิ่งคลอดลูก



นางสาววิลัยลักษณ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งทราบภายหลังว่าถูกปลดพร้อมพนักงานคนอื่น 200 คน โดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้า ตอนนี้เครียดกลัวเงินจะไม่พอเลี้ยงลูก จึงวอนบริษัทเห็นใจและชดเชยเงินตามสิทธิ์การทำงาน 8 ปี ไม่ได้จะขออะไรมาก

ด้านสามีนางสาววิลัยลักษณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ครอบครัวก็ได้รับผลกระทบ ร้านขายอุปกรณ์ตกปลาที่ทำอยู่รายได้ลด จากแต่ก่อนขายได้ 50,000-60,000 บาท ตอนนี้เหลือเพียง 12,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ต้องนำไปจ่ายทั้งค่าเช่าเดือนละ 3,500 บาท และค่าน้ำ-ค่าไฟอีกเดือนละ 4,200 บาท จึงอยากขอความเห็นใจด้วย ตนเพิ่งมีลูกเล็ก ภรรยาก็ต้องมาตกงาน โดยที่ยังไม่สามารถทำงานได้อีก


นายฝน (นามสมมติ) หนึ่งในพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เปิดเผยว่า ตนทำงานมา 9 ปี เพิ่งรู้ว่าจะถูกเลิกจ้างตอนเที่ยง ทั้งที่ตอนเช้าก็มาทำงานปกติ บริษัทชี้แจงว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ไม่มีออร์เดอร์ จึงส่งผลต่อสภาพคล่อง และจำเป็นต้องปลดพนักงานบางส่วน ก่อนนำเอกสารมาให้เซ็นและให้เงินคนละ 12,000 บาท โดยส่วนตัวคิดว่าเงินชดเชยน้อยเกินไป

ทั้งนี้ นายสมภพ มาลีแก้ว หัวหน้าสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นทราบว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่รับงานต่อจากบริษัทใหญ่ และตั้งแต่ช่วงโควิด 19 ทำให้ทางบริษัทใหญ่เกิดปัญหาในการนำเข้าชิ้นส่วนผลิต ส่งผลให้ทางบริษัทได้รับผลกระทบด้วย จึงดำเนินการปลดพนักงานดังกล่าว


ขณะที่ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวที่มีการเลิกจ้างโดยอ้างว่าขาดทุน ต้องเลิกจ้างทั้งบริษัท ไม่ใช่คัดออกเป็นกลุ่ม ๆ ต้องนำบัญชีผลประกอบการ และกำไรสะสมมาแสดงว่าขาดทุนจริงหรือไม่ หรือแค่ขาดทุนกำไร ซึ่งการเลิกจ้างพนักงาน ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือ 1 งวดค่าจ้าง และกฎหมายแรงงานเขียนไว้ชัดว่า ห้ามเลิกจ้างหญิงมีครรภ์ ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ดังนั้น พนักงานที่ลาคลอดบุตรแล้วถูกเลิกจ้าง สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายแรงงานได้

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : hilight.kapook,เฟซบุ๊ก ข่าวสารชลบุรี-ระยอง ,รายการทุบโต๊ะข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สถานะยืนยันตัวตน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขึ้นข้อความแบบไหน ได้สิทธิชัวร์

      ตรวจสอบสถานะ ยืนยันตัวตนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านเว็บไซต์ด้วยตนเอง หากได้รับข้อความแบบไหนถึงจะรูผลว่าผ่านและรอรับเงินเข้าบัตรประจำตัวป...